แพนอากาศที่มีรูปทรงแตกต่างกันจะได้การ Stall ที่แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งลักษณะหรือชนิดการ stall ของแพนอากาศนั้นๆ สามารถแบ่งเป็น 3 ชนิดดังนี้
1. Trailing edge stall
การ stall ชนิดนี้จะพบมากกับแพนอากาศหนา ส่วนใหญ่มีความหนาสูงสุด (maximum thickness) มากกว่า 15% ของความยาวคอร์ดขึ้นไป การไหลที่มุมปะทะสูงการไหลที่ผิวด้านบนของแพนอากาศจะเป็นการไหลแบปั่นป่วน ขณะที่แพนอากาศทำมุมปะทะสูงประมาณ 10 องศา การไหลแยกจากผิวจะเริ่มเกิดขึ้นที่ชายหลังของแพนอากาศและค่อยๆ ขยายมาทางด้านหน้า กล่าวโดยสรุปคือ trailling edge stall เป็นการ stall ที่เริ่มเกิดจากชายหลังมาหาชายหน้าและเกิดบริเวณชั้นการไหลแบบปั่นป่วน
2. Leading-edge stall
สำหรับแพนอากาศที่มีความหนาสูงสุดประมาณ 9% - 12% ของความยาวคอร์ด การไหลแยกจากผิวจะเริ่มจากการไหลแยกเป็นลักษณะฟองอากาศสั้นๆ หรือเรียก short bubble ที่บริเวณชายหน้าเกิดขึ้นในชั้นขอบเขตการไหลแบบราบเรียบ ก่อนการไหลจะเปลี่ยนตัวกลายเป็นการไหลแบบปั่นป่วน จากนั้นการไหลที่ผ่าน short bubble นี้จะเปลี่ยนตัวเป็นการไหลปั่นป่วนและมีโมเมนตัมเพียงพอที่จะกลับมาไหลแบบชิดผิวจนกระทั่งไหลผ่านชายหลังออกไป เมื่อแพนอากาศทำมุมปะทะสูง จะเกิดการไหลแยกจากผิวเริ่มจากที่ชายหน้าตลอดจนชายหลัง ซึ่งจะเกิดการสูญเสียแรงยกหรือการ stall อย่างทันทีทันใด เส้นกราฟที่จุด peak จะมีลักษณะแหลมและหลังการ stall จะชันลงทันที ซึ่งการ stall ในลักษณะนี้เรียกว่า leading edge stall เป็นการ stall ที่เริ่มเกิดจากชายหน้าของแพนอากาศและเกิดขึ้นบริเวณชั้นการไหลแบบราบเรียบ leading edge stall นี้จะเป็นการ stall ที่รุนแรงซึ่งเป็นลักษณะการ stall ที่ไม่พึงประสงค์
3.Thin airfoil stall
สำหรับแพนอากาศที่มีความหนาน้อย จนเสมือนเป็นแผ่นราบ (flat plate) โดยมีความหนาสูงสุดน้อยกว่า 6% ของความยาวคอร์ด การไหลผ่านแพนอากาศนี้จะเริ่มเกิด bubble ขึ้นแม้มุมปะทะจะยังต่ำอยู่ก็ตาม เมื่อมุมปะทะสูงขึ้นจะเกิด bubble จะขยายตัวเพิ่มขึ้นหรือเรียก long bubble ซึ่งเป็นผลทำให้ค่าความชันเส้นแรงยกลดลง แต่การไหลผ่านหลัง bubble นี้ยังคงไหลชิดผิวอยู่ และเมื่อเพิ่มมุมปะทะสูงขึ้นอีก bubble จะขยายตัวจนถึงชายหลังของแพนอากาศซึ่งค่าแรงยกสูงสุดจะเกิดขึ้นในช่วงการไหลนี้ หลังจากนั้นเมื่อเพิ่มมุมปะทะสูงขึ้นอีกเพียงเล็กน้อยจะเกิดการไหลแยกจากผิวขึ้นทันที นั่นคือเกิดการ stall ขึ้น