อากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics) แพนอากาศ (Airfoils) เครื่องบิน ปีกเครื่องบิน จรวด ยานอวกาศ กังหันลม ใบพัด การคำนวณ CFD รวมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับอากาศพลศาสตร์

รูปทรงของแพนอากาศ (Airfoil Section Geometry)

| วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555
พิจารณาปีกของเครื่องบินดังรูปที่ 1 หากปีกที่วางอยู่ในระดับถูกตัดด้วยระนาบซึ่งเป็นระนาบในแนวดิ่งขนานไปกับเส้น center line ของเครื่องบิน รูปภาคตัดขวางที่ได้อาจจะเป็นไปตามรูปที่ 2 จะเรียกชื่อภาคตัดขวางของปีกนี้ว่า แพนอากาศ (Airfoil) เป็นการสมมุติว่าปีกเครื่องบินมีความยาวปีกมากกว่าความกว้าง (ความยาวคอร์ด) มากและมีหน้าตัดคงที่จึงสามารถอนุมานเป็นปีกแบบ 2 มิติ เพื่อความสะดวกต่อการพิจารณาค่าคุณสมบัติต่าง ๆ 
แพนอากาศ เครื่องบิน
รูปที่ 1 ภาพปีกและแพนอากาศ

แพนอากาศ (Airfoil)
รูปที่ 2 ส่วนประกอบของแพนอากาศ

ส่วนประกอบของแพนอากาศมีดังนี้

1. ชายหน้า (leading edge) คือจุดหน้าสุดของเส้นแคมเบอร์หรือแพนอากาศ

2. ชายหลัง (trailing edge) คือจุดหลังสุดของเส้นแคมเบอร์หรือแพนอากาศ

3. คอร์ด (chord) คือ ระยะทางเป็นเส้นตรงจากชายหน้าปีก (leading edge) ไปยังชายหลังปีก (trailing edge) ของแพนอากาศ (มักกำหนดสัญลักษณ์ c )

4. เส้นคอร์ด (chord line) คือ เส้นตรงสมมุติที่ลากจากชายหน้าปีกไปยังชายหลังปีกของแพนอากาศ

5. เส้นแคมเบอร์ (mean camber line) หรือเส้นกลางความโก่งตัว คือเส้นสมมุติที่ลากแบ่งครึ่งผิวปีกบน และ ผิวปีกล่างของแพนอากาศออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน

6. ค่าแคมเบอร์ (camber) หรือความโก่งตัว คือระยะห่างที่มากที่สุดระหว่างเส้นแคมเบอร์กับเส้นคอร์ด ซึ่งถ้าเส้นแคมเบอร์อยู่ระหว่างเส้นคอร์ดกับพื้นผิวบน ทำให้แพนอากาศมีความโก่งหรือแคมเบอร์เป็นบวก (positive camber) ถ้าเส้นแคมเบอร์ทับเป็นเส้นเดียวกับเส้นคอร์ด ทำให้แพนอากาศไม่มีความโก่งหรือเป็นแพนอากาศแบบสมมาตร (symmetry airfoil) ถ้าเส้นแคมเบอร์อยู่ระหว่างเส้นคอร์ดกับพื้นผิวล่าง ทำให้แพนอากาศมีความโก่งเป็นลบ (negative camber) ดูรูปที่ 3 ประกอบ

รูปที่ 3 ผลของแคมเบอร์ต่อรูปทรรงแพนอากาศ
(source - NASA)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น